นักวิชาการ ม.เกษตร ชี้ชัดน้ำยาฆ่าเชื้อโรคจากกรดไฮโปคลอรัส (HOCl) ต้านไวรัส ฆ่าโควิด เผย EWATER+ (Electrolyzed Water) เป็นการนำน้ำประปามาทำปฏิกิริยาอิเล็กโตรไลซิส ทำให้เกิดเป็นกรดไฮโปคลอรัส มีคุณสมบัติในการช่วยลดเชื้อโรคภายในโถสุขภัณฑ์และก้านฉีดชำระ ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน
ในยุคสมัยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ผู้คนส่วนใหญ่หันมาให้ความสนใจกับเรื่องของความสะอาดอย่างจริงจัง และค้นหาผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดยับยั้งเชื้อโรคมากยิ่งขึ้น แอลกอฮอล์จึงถูกนำมาใช้เพื่อทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นเหตุให้มีบางช่วงที่แอลกอฮอล์นั้นขาดตลาด มีราคาแพงขึ้น และหาซื้อได้ยาก ทางคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ริเริ่มโครงการผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อจากกรดไฮโปคลอรัส (Hypochlorous Acid) หรือ HOCl เพื่อแจกจ่ายแก่บุคลากร และประชาชนโดยรอบ
สำหรับกรดไฮโปคลอรัส เป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา รวมไปถึงสปอร์ของเชื้อราได้ สามารถใช้ทำความสะอาดได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน
“ในความเป็นจริง เซลล์เม็ดเลือดขาวในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสามารถผลิตกรดไฮโปคลอรัสได้เอง และในร่างกายมนุษย์ก็มีการผลิตสารนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยต่อต้านไวรัสในร่างกาย รวมถึงช่วยในการปกป้อง กำจัดเชื้อโรคที่แปลกปลอมเข้ามาสู่ร่างกาย” ผศ. ดร. พิเชษฐ อนุรักษ์อุดม รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าว
กรดไฮโปคลอรัสถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในหลากหลายประเทศ และหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น ยุโรป, สหรัฐอเมริกา, เกาหลี แม้กระทั่งประเทศญี่ปุ่นเอง ซึ่งมีการใช้ในหน่วยงานทหารเรือ สำหรับทำความสะอาดอุปกรณ์ภายในเรือ, วงการแพทย์ ที่ใช้สำหรับทำความสะอาดแผล และใช้ทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในโรงพยาบาล, วงการทันตกรรม ใช้สำหรับให้คนไข้กลั้วทำความสะอาดช่องปากก่อนทำฟัน, นอกจากนี้ยังมีการใช้ทางด้านปศุสัตว์และด้านการเกษตร มีส่วนช่วยในการฆ่าเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ที่อยู่ในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ รวมถึงฟาร์มผักผลไม้ที่เป็นออร์แกนิก หรือแม้กระทั่งพ่นฆ่าเชื้ออุปกรณ์ต่างๆ ในอุตสาหกรรมจำหน่ายเนื้อสัตว์ ก่อนที่จะบรรจุเพื่อนำส่งให้ผู้บริโภค เพียงแต่อาจจะยังไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายภายในประเทศไทยมากนัก จนในช่วงหนึ่งที่แอลกอฮอล์ขาดแคลน ผู้คนจึงให้ความสนใจกับกรดไฮโปคลอรัสมากยิ่งขึ้น จากที่แต่เดิมใช้เพียงแค่ในบางหน่วยงานเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ งานวิจัยเกี่ยวกับ HOCl จึงยังค่อนข้างน้อยอยู่เมื่อเทียบกับผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในต่างประเทศ
ความแตกต่างระหว่างกรดไฮโปคลอรัส (HOCl) กับแอลกอฮอล์ (เอทิลแอลกอฮอล์) คือ กรด HOCl มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคได้เร็วกว่า ปลอดภัยกว่า สามารถใช้กับอาหาร กับพื้นผิวบอบบางได้ อย่างเด็ก เป็นต้น อีกทั้งเมื่อใช้ทำความสะอาดแล้ว เวลาที่สลายตัวไป ก็จะเหลือเพียงแค่เกลืออย่างเดียว มีความปลอดภัยสูง ในขณะที่แอลกอฮอล์มีข้อเสียคือเป็นสารที่ติดไฟ และบางคนอาจเกิดการแพ้หรือระคายเคืองได้ นอกจากนี้ประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อที่ต้องใช้เวลานานกว่า
สารตั้งต้นของการผลิตกรด HOCl มีหลากหลาย อาทิ การนำเกลือแกง (โซเดียมคลอไรด์ (NaCl)) มาละลายน้ำ หรือ ใช้น้ำที่มีคลอรีน (Chlorine) นำมาผ่านกระแสไฟฟ้าเพื่อทำปฏิกิริยาอิเล็กโตรไลซิส (Electrolysis) จึงเกิดเป็นกรดไฮโปคลอรัส ซึ่งกระบวนอิเล็กโตรไลซิสนี้ เริ่มต้นจาก ไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) เป็นนักเคมีและนักฟิสิกส์ ชาวอังกฤษ ผู้คิดค้นไดนาโม และได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการใช้กระแสไฟฟ้าผ่านลงไปในสารละลายเกลือ จนได้มาซึ่งกรดไฮโปคลอรัส
นอกจากอุตสาหกรรมทางด้านอาหารและในทางการแพทย์แล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เล็งเห็นถึงประโยชน์และสุขอนามัยจากการใช้ HOCl อย่างเช่น สุขภัณฑ์อัตโนมัติ NEOREST และ ฝารองนั่งอัตโนมัติ WASHLET ของบริษัท โตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำด้านสุขภัณฑ์ จากประเทศญี่ปุ่น และมีประวัติยาวนานกว่า 100 ปี โดยผลิตภัณฑ์ของ TOTO นั้น มีนวัตกรรมด้านสุขอนามัยที่มีชื่อว่า EWATER+ (Electrolyzed Water) ซึ่งเป็นการนำน้ำประปามาทำปฏิกิริยาอิเล็กโตรไลซิส ทำให้เกิดเป็นกรดไฮโปคลอรัส มีคุณสมบัติในการช่วยลดเชื้อโรคภายในโถสุขภัณฑ์และก้านฉีดชำระ ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน โดย EWATER+ จะถูกฉีดพ่นทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากการใช้งาน หรือเมื่อไม่มีผู้ใช้งานทุกๆ 8 ชั่วโมง ทำให้โถสุขภัณฑ์ดูสะอาดเหมือนใหม่ตลอดเวลา ช่วยลดเวลาในการทำความสะอาด นอกจากปลอดภัยกับผู้ใช้งานแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป น้ำ EWATER+ จะกลับคืนสภาพกลายเป็นน้ำปกติ ทำให้เป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเทคโนโลยี EWATER+ ภายในผลิตภัณฑ์ของ TOTO นี้ ได้รับรางวัลการันตีระดับโลก จาก GREEN GOOD DESIGN Awards 2018 ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการออกแบบหรือมีเทคโนโลยีเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
บริษัท โตโต้ ได้เปิดโรงงานเพื่อผลิตภัณฑ์ฝารองนั่งอัตโนมัติ WASHLET ในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงโรงงานผลิตฝารองนั่งอัตโนมัติ WASHLET ในประเทศไทย ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งอยู่ภายใต้มาตรฐานการผลิตอันเข้มงวดของประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน โดยล่าสุด ผศ. ดร. พิเชษฐ อนุรักษ์อุดม ได้มาเยี่ยมชมโรงงานดังกล่าว เพื่อชมกระบวนการผลิตฝารองนั่งอัตโนมัติ รวมถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยี EWATER+ ของทาง TOTO และกรดไฮโปรคลอรัส โดยมี คุณ ทาคายะสุ ชิมาดะ ประธานบริษัท โตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด และ คุณ ฮิโรกิ ฟูจิมูระ รองกรรมการผู้จัดการ และ ผู้จัดการฝ่ายโรงงานผลิตฝารองนั่งอัตโนมัติ WASHLET บริษัท โตโต้ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับและพาชมการผลิตฝารองนั่งอัตโนมัติ ภายใต้มาตรฐานประเทศญี่ปุ่น
เกี่ยวกับ “โตโต้” (TOTO)
บริษัท โตโต้ จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2460 ที่จังหวัดคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น “โตโต้” (TOTO) เป็นผู้ผลิตสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ห้องน้ำรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น โดยตลอดระยะเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา “TOTO” ได้ทุ่มเทค้นคว้าวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะหนึ่งในปรัชญาขององค์กรคือ สร้างสรรค์การใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบและสะดวกสบาย ด้วยความพรั่งพร้อมและบริการด้านสุขภัณฑ์ให้กับคนทั่วโลก พนักงานทุกคนจึงยึดหลักนี้มาใช้ในการทำงานทุกกระบวนการ ตั้งแต่งานวิศวกรรมและการออกแบบเพื่อการผลิตและการขาย เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าแบรนด์ “TOTO” มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น