Thursday, 31 October 2024 - 5:20 am
GDN-corporate-980x120
banner SENTRYSAFE
Ads_980_120
Thursday, 31 October 2024 - 5:20 am
GDN-corporate-980x120
banner SENTRYSAFE
Ads_980_120

เยาวชนอาเซียนเสนอไอเดียทำเกษตรสมัยใหม่-แอปลด Food Waste ชม 2 นวัตกรรมความยั่งยืนชนะเลิศจากเวที PIM International Hackathon ครั้งที่ 2

การจัดงาน PIM International Hackathon ครั้งที่ 2 สุดยอดเวทีเยาวชนระดับนานาชาติด้านความยั่งยืนในปีนี้ เรียกว่าเป็นการเปิดพื้นที่ส่งเสริมให้เยาวชนทั่วอาเซียนได้ประชันไอเดียกันอย่างเข้มข้น เพราะมีทีมจากทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับมหาวิทยาลัยทั่วอาเซียนรวมกันกว่า 220 ทีม มานำเสนอโปรโตไทป์โปรเจ็กต์ ภายใต้แนวคิด “Sustainable Well-being towards Zero-Green-Clean Economy” ประเด็นสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในขณะนี้

ไอเดียที่นำเสนอกันบนเวที ล้วนเป็นไอเดียที่มีจุดมุ่งหมายอันดีในการแก้ปัญหาสำคัญของโลกเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืน อาทิ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน (Sustainable Living) การขจัดความหิวโหยและเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร (End Hunger & Promote Food Security) การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี (Healthy Lives & Well-being Improvement) จนในที่สุดก็ได้ผลงานที่โดนใจคณะกรรมการหลากสัญชาติ

สำหรับผลงานชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตกเป็นของทีม Eco-loop จากโรงเรียนอัสสัมชัญ สมุทรปราการ โดยนายธนาพันธ์ ธีรธาตรี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 สาย Business-Math หนึ่งในสมาชิกทีม เล่าว่า ไอเดียของทีมคือโปรโตไทป์ E1 เป็นพื้นที่คอนเทนเนอร์และเรือนกระจกที่นำระบบฟาร์มแมลงที่สามารถเป็นอาหารได้และฟาร์มเพาะปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์มาผสมผสานรวมกัน เพื่อให้ทั้ง 2 ฟาร์มเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เช่น การนำปุ๋ยจากฟาร์มแมลงไปใช้ในฟาร์มเพาะปลูก การนำของเสียจากฟาร์มเพาะปลูกมาใช้เป็นอาหารแมลง พร้อมทั้งมีเทคโนโลยีพลังงานทดแทนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วย สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ

นายธนาพันธ์ ธีรธาตรี

“เรามองว่าโปรโตไทป์ E1 ของเราจะช่วยลดต้นทุนการทำฟาร์ม เพิ่มโอกาสการใช้พื้นที่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สร้างกำไรให้แก่เกษตรกรได้มากขึ้น สร้างสรรค์การเกษตรที่ทันสมัยและยั่งยืนให้แก่เกษตรกร” นายธนาพันธ์ กล่าว

โปรโตไทป์ E1

นายธนาพันธ์ ย้ำว่า ปัจจัยพื้นฐานการสร้างอนาคตของประเทศเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตร อยากให้เพื่อนๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมสนใจเรื่องความยั่งยืน ตลอดจนโมเดลธุรกิจที่มีความยั่งยืน ร่วมกันช่วยสร้างสรรค์สังคม เพื่อคนเจเนอเรชั่นต่อๆ ไป

นางสาวณัฏฐ์นรี สุขสมบูรณ์

ขณะที่ผลงานชนะเลิศระดับมหาวิทยาลัย ตกเป็นของทีม Go Green ทีมที่เกิดจากการรวมตัวกันของนักศึกษาชาวไทย ชาวลาว และชาวกัมพูชา โดยนางสาวณัฏฐ์นรี สุขสมบูรณ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการจัดการธุรกิจการค้าสมัยใหม่ คณะวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกทีม เล่าว่า ผลงานของทีมคือแอปพลิเคชัน Go Green แอปพลิเคชันซื้อขายอาหารและวัตถุดิบอาหาร เช่น กลุ่ม Imperfect Plant หรือผลผลิตทางการเกษตรที่รับประทานได้ แต่อาจมีรูปร่างหรือสีสันที่ไม่สวยงาม เช่น ผักที่มีรอยดำ จนไม่ผ่านการตรวจคุณภาพของห้าง โดยตัวแอปจะช่วยเชื่อมเกษตรกร ร้านอาหาร ลูกค้า ตลอดจนมูลนิธิที่จะนำอาหารไปบริจาคเข้าด้วยกัน ให้สามารถซื้ออาหารเหล่านั้นระหว่างกันได้ เพื่อช่วยลดปัญหาของเสียจากอาหาร (Food Waste)

“Food Waste เป็นเรื่องใกล้ตัวและถือเป็นปัญหาระดับอาเซียน เฉพาะในไทยเองเรามี Food Waste มากถึงราว 63 ล้านตันต่อปี เทียบเป็นค่าคาร์บอนจากอาหารเหล่านั้นก็เยอะมาก เกษตรกรเองก็เผชิญปัญหาสินค้าเกษตรที่ยังทานได้ แต่ติดขัดเรื่องหน้าตา เราจึงเชื่อว่าหากเชื่อมกลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงกัน จะช่วยลด Food Waste มีการนำอาหารไปช่วยขจัดความหิวโหย และช่วยสร้างความยั่งยืนได้” นางสาวณัฏฐ์นรี กล่าว

Go Green

นางสาวณัฏฐ์นรี ย้ำว่า เรื่องความยั่งยืนไม่ใช่แค่เทรนด์ ไม่ใช่เรื่องที่คนตัวเล็กๆ ทำไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องเกินตัว ทุกคนสามารถสร้างความยั่งยืนได้ ด้วยการปรับพฤติกรรม ทุกองค์กรทุกภาคส่วนต้องเริ่มทำอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่ CSR เก็บขยะ โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งจากภาวะโลกร้อน ปัญหาขยะล้นโลก ปัญหาความยากจน หากไม่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนกันตั้งแต่ตอนนี้ อีก 10 ปีข้างหน้า โลกของเราอาจไม่เหมือนเดิม และไม่สามารถส่งต่ออนาคตที่ดีให้แก่คนเจเนอเรชั่นต่อไป

สำหรับเวที PIM International Hackathon ครั้งที่ 2 จัดขึ้นโดยวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ร่วมกับบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” พร้อมด้วยอีกหลากหลายพันธมิตร อาทิ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab by MQDC), ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC), True Lab โดย True Innovation, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัล ทุนการศึกษา ตลอดจนโอกาสร่วมงานกับพันธมิตรการจัดงาน

spot_imgspot_img
spot_imgspot_img