การเคหะแห่งชาติเผยความคืบหน้าโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะ 2 แล้วเสร็จกว่า 70% เตรียมจับมือเอกชนระดมทุนรุกพัฒนาโครงการระยะ 3-4 หวังช่วยเร่งระยะเวลาพัฒนา คาดโครงการแล้วเสร็จทั้งหมด 11 อาคาร ปี 72 พร้อมเตรียมถอดบทเรียนสู่ชุมชนห้วยขวาง รามอินทรา และชุมชนทุ่งสองห้องต่อไป
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง นับว่าเป็นมหากาพย์ของการพัฒนาและฟื้นฟูเมือง ใช้ระยะเวลากว่า 16 ปี จึงจะประสบผลสำเร็จ ซึ่งจุดเริ่มต้นของชุมชนดินแดงคือการเคหะแห่งชาติรับโอนแฟลตดินแดงมาจากกรมประชาสงเคราะห์ในปี 2516 จนถึงปัจจุบันเป็นอาคารที่มีอายุกว่า 60 ปี โครงสร้างอาคารชำรุด และมีสภาพทรุดโทรม การเคหะแห่งชาติจึงได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ซึ่งเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 – 2567) ให้เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ชุมชนดินแดง (แฟลตดินแดง) ซึ่งเดิมเป็นอาคาร 5 ชั้น 64 อาคาร การเคหะแห่งชาติจึงได้นำร่องโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 1 อาคารแปลง G สูง 35 ชั้น จำนวนห้องพักอาศัย 334 หน่วย ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและบรรจุผู้อยู่อาศัยแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561
ทั้งนี้ สำหรับห้องชุดโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) มีพื้นที่ใช้สอย 33 ตารางเมตร/หน่วย เป็นอาคารที่รองรับผู้อยู่อาศัยจากแฟลตดินแดงเดิม ขณะที่อัตราค่าเช่าอิงกับฐานค่าเช่าของผู้อยู่อาศัยเดิมในอาคารเดิม ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ 300-3,000 บาท โดยในการย้ายเข้ามาอยู่ที่โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) จะมีค่าส่วนกลางเพิ่ม 825 บาท อัตราค่าเช่าจึงตกอยู่ที่ประมาณ 1,125-4,300 บาท/ห้อง
นายทวีพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความสำเร็จของโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1 (อาคารแปลง G) แล้ว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการให้ดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2, 3 และ 4 โดยปัจจุบันการเคหะแห่งชาติกำลังดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 2 อาคาร D1 เพื่อรองรับผู้อยู่อาศัยจากแฟลตดินแดงเดิม เป็นอาคารสูง 35 ชั้น จำนวน 1 อาคาร จำนวนห้องพักอาศัย 612 หน่วย พื้นที่ใช้สอย 33 ตารางเมตร/หน่วย ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้ว 72.99% เร็วกว่าแผน 7.33% (ณ 31 สิงหาคม 2566) ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานด้านสถาปัตยกรรมและงานระบบ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2567 โดยอาคาร D1 ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นทุกกระบวนการ ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้างอาคาร โดยนำประสบการณ์ในอดีตมาพัฒนาและแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดคือมุ่งเน้นเรื่องการก่อสร้างที่มีคุณภาพ และใส่ใจทุกรายละเอียด ทุกขั้นตอน ทั้งเรื่องความปลอดภัย ความมั่นคงของตัวอาคาร รวมทั้งคำนึงถึงแนวคิดด้านอารยสถาปัตยกรรม (Universal Design) ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ทุกเพศทุกวัย รวมถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
ทั้งนี้ สำหรับโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ในขั้นตอนต่อไปการเคหะแห่งชาติได้เตรียมหารือกับภาคเอกชนเพื่อร่วมทุนพัฒนาโครงการในระยะ 3-4 ในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership) ซึ่งเป็นโครงการที่นอกจากจะรองรับจากผู้อยู่อาศัยจากแฟลตดินแดงเดิมยังรองรับผู้เช่ารายใหม่ รวมทั้งมีพื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมด้วย
“PPP เป็นตัวเลือก เป็นแหล่งระดมทุน รวมทั้งช่วยให้ระยะเวลาในการพัฒนาโครงการรวดเร็วขึ้น เนื่องจากภาคเอกชนจะคำนึงถึงเรื่องของการบริหารต้นทุนในการพัฒนาโครงการด้วย” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าว
ขณะที่นายสมเจต ประพันธ์บัณฑิต รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ระยะ ตั้งอยู่บนพื้นที่รวม 192 ไร่ จำนวนอาคารพักอาศัยทั้งหมด 11 อาคาร จำนวนห้องชุดพักอาศัย 20,292 หน่วย ในจำนวนนี้รองรับผู้อยู่อาศัยจากแฟลตดินแดงเดิม 6,546 หน่วย และผู้เช่ารายใหม่ 13,746 หน่วย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2572 โดยหลังจากโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง การเคหะแห่งชาติได้เตรียมถอดบทเรียนไปสู่การพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองในชุมชนอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีความทรุดโทรม ได้แก่ ชุมชนห้วยขวาง ชุมชนรามอินทรา และชุมชนทุ่งสองห้อง เป็นการต่อไป
“โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองของการเคหะแห่งชาติ เริ่มต้นจากชุมชนดินแดงและมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยการเคหะแห่งชาติให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นหลัก ทั้งยังได้ถอดบทเรียนจากชุมชนดินแดงไปสู่โครงการฟื้นฟูเมืองอื่น ๆ ได้แก่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนห้วยขวาง โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนรามอินทรา และโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนทุ่งสองห้อง เพื่อให้ทุกชุมชนได้รับการพัฒนา และผู้อยู่อาศัยทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป” นายทวีพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย