ประเทศไทยมีความพร้อมสูงในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลของเจแอลแอล (NYSE: JLL) ระบุว่าศักยภาพในการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐและการลงทุนจากต่างประเทศ จะมีมูลค่าอย่างน้อย 6.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 220,000 ล้านบาท) ภายในปี 2573 และจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ และสนับสนุนให้ประเทศสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตและนวัตกรรมในระดับภูมิภาค
เจแอลแอลคาดการณ์ว่าขนาดของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่จำเป็นต่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของไทยนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามนโยบาย “30@30” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทยที่กำหนดเป้าหมายให้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศ 30% ต้องเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 นั้น นับว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะส่งเสริมการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ภาคอุตสาหกรรมนับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งนโยบาย 30@30 นั้นประกอบด้วยเงินอุดหนุนจำนวนมาก การลดภาษี และมาตรการ EV 3.5 ที่ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี 2567-2570
“ประเทศไทยได้แสดงความชัดเจนผ่านการดำเนินการตามนโยบาย 30@30 และมาตรการ EV 3.5 ว่าเรามีความมุ่งมั่นและแรงผลักดันสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของภูมิภาค แรงจูงใจเหล่านี้สามารถดึงดูดทั้งกลุ่มนักลงทุน ผู้ผลิต และซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างมาก แต่หากต้องการสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง เราไม่อาจมองข้ามบทบาทของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งถือเป็นรากฐานในการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไปได้” นายไมเคิล แกลนซี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยและอินโดนีเซีย บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (JLL) กล่าว
ในปี 2567 การผลักดันด้านกลยุทธ์ของไทยสามารถดึงดูดเงินทุนเข้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งจากในและต่างประเทศ โดยมีมูลค่าการลงทุนสะสมที่ทำสัญญาแล้วประมาณ 1.8 พันล้านดอลลาร์ โดยเงินทุนก้อนใหญ่นี้ยังรวมถึงเงินลงทุน 1.4 พันล้านดอลลาร์ (49 พันล้านบาท) จากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในจีนซึ่งรวมถึงบริษัทบีวายดี (BYD) และเงินลงทุน 4.4 พันล้านดอลลาร์ (150 พันล้านบาท) โดยผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่น
นอกจากนี้ เพื่อการบรรลุเป้าหมายตามนโยบาย 30@30 เพื่อให้สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% จากทั้งหมดตามเป้าหมายภายในปี 2573 ประเทศไทยจำเป็นต้องผลิตแบตเตอรี่มากกว่า 34 GWh ให้ได้จากภายในประเทศ ทำให้ต้องมีการแสวงหาพื้นที่เพื่อการผลิตและพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมใหม่นี้ด้วย โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 ไทยมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้ารวมที่ 167,000 คัน ซึ่งคิดเป็น 26.4% ของเป้าหมายปี 2573 ซึ่งต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 440,000 คัน
นายไมเคิล แกลนซี่กล่าวย้ำว่า “การวิจัยและพัฒนามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทยในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องมีโครงการอสังหาริมทรัพย์เฉพาะทางที่สามารถรองรับการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การผลิตจำนวนมาก และการเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
กิจกรรมและการพัฒนาที่สำคัญหลายด้านยังช่วยตอกย้ำว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยกำลังเติบโต และเพื่อรักษาและกระตุ้นแรงผลักดัน ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเสนอเงินอุดหนุนและการลดหย่อนภาษีให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ที่สร้างศูนย์การวิจัยและพัฒนา ยกตัวอย่างผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างฮุนไดและศูนย์วิจัยเทคโนโลยียานยนต์จีน (CATARC) ก็ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นในประเทศแล้ว นอกจากนี้ บีวายดียังได้เปิดตัวคลังชิ้นส่วนอะไหล่แห่งใหม่ในกรุงเทพฯ รวมถึงเทสลาก็ได้สร้างโรงงานแบบครบวงจร ซึ่งประกอบด้วยศูนย์บริการและคลังชิ้นส่วนอะไหล่ไว้ในแห่งเดียว
เจแอลแอลยังคาดการณ์ถึงการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นของทุกภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น ซอฟต์แวร์และการบูรณาการปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีแบตเตอรี่ ยางรถยนต์ และชิ้นส่วนยาง
“การลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาแสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศไทยในภาคธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว การผสานสิ่งจูงใจจากภาครัฐ แรงงานที่มีทักษะ และโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน จะทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดใจสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งรายใหม่และผู้ที่มีประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในด้านการผลิต การวิจัยและพัฒนา และอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ในระบบนิเวศให้ครอบคลุมมากขึ้น จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนความมุ่งมั่นสู่เป้าหมายด้านรถยนต์ไฟฟ้าของไทย ให้เกิดขึ้นจริงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยมีความแตกต่างและโดดเด่นไปอีกหลายทศวรรษ” นายไมเคิล แกลนซี่ กล่าวทิ้งท้าย